บันทึกเรื่องสำนักปู่สวรรค์

  • Print

บันทึกเรื่องสำนักปู่สวรรค์

เรียบเรียงจากบันทึกของ อาจารย์ลัดดา ประเสริฐกุล เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕

ลงในหนังสือ อนุสรณ์ครบรอบ ๑๐ ปี สำนักปู่สวรรค์ จัดพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๑๘

ladda

เริ่มรู้จัก

ปลายปี พ.ศ.๒๕๑๑ พ่อป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อย่างกระทันหันและอยู่ต่อมาประมาณ ๑ เดือน อาการยิ่งเลวลง ประสาทไม่รับรู้ทีละส่วน เริ่มพูดไม่ชัด ต่อมาไม่พูด ไม่ลืมตา ป้อนอาหารก็ไม่กลืน จึงย้ายไปอยู่โรงพยาบาลประสาทพญาไทอีก ๑เดือน  จากฟิล์มเอ็กซเรย์ แพทย์ทราบว่าในทรวงอกมีสิ่งผิดปกติ แพทย์เข้าใจว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง จึงเร่งให้ย้ายไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคตรวจและรักษา

ระหว่างนั้นข้าพเจ้าไปนมัสการสมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์(หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) ซึ่งเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ สำนักปู่สวรรค์ ที่ตำบลบางปะกอก หลวงปู่ท่านบอกว่า ไม่ใช่เนื้องอกหรือมะเร็ง แต่เป็นกลุ่มเส้นเลือดมาขอดอยู่  

เมื่อมาอยู่โรงพยาบาลศิริราชได้ ๗ วัน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทรวงอก แจ้งผลว่ามิใช่เนื้องอกหรือมะเร็ง แต่เป็นกลุ่มเส้นเลือดบริเวณหัวใจพอง นี่เป็นจุดแรกที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสสำนักปู่สวรรค์ หลวงปู่ให้ยาไปต้มให้พ่อกิน แต่น้องชายซึ่งเป็นแพทย์แผนปัจจุบันไม่ยินยอม ข้าพเจ้าจึงได้แต่ แอบเอาน้ำมนต์ (สำหรับผสมเป็นน้ำกระสายยาตามตำรับที่หลวงปู่สั่ง)ใส่ปนลงในอาหารเหลวที่ให้คนไข้ทางสายยาง เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง คนไข้ไม่รู้สึกตัวนอนหลับตาอยู่ ย่างเข้า ๓ เดือนแล้ว ทันทีที่อาหารเหลวถึงกระเพาะ พ่อได้ยกมือขึ้นไหว้โดยอัตโนมัติ ข้าพเจ้าเห็นดังนั้น ก็เข้าใจทันที แต่ไม่กล้าบอกใคร นี่เป็นจุดที่สองที่ทำให้เชื่อมั่นในหลวงปู่

คนไข้อยู่โรงพยาบาลศิริราชในสภาพไม่รู้ตัว ได้อาหารเหลวตามเวลาเช่นนั้นอีกเดือนเศษ แพทย์ก็แจ้งว่าอายุคนไข้มากแล้ว(อายุ ๗๔ ปี) ไม่กล้าทำอะไรให้มากกว่านี้ เป็นอันว่าคนไข้ไม่รู้สึกตัวเป็นเวลา ๓ เดือนกับ ๑๐ วัน

ตะกรุดโทน ซึ่งทำพิธีลงอักขระ และม้วนที่เกาะแก้วพิสดาร จังหวัดภูเก็ตกำลังรอพิธีลงพลัง ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๒ ซึ่งถือเป็นวันเสาร์ห้า แต่ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๑๒ พ่อเจ็บหนัก หลวงปู่ท่านจึงรักษาตามวิธีของท่าน ท่านเอาตะกรุดโทนมาเสกเป่าอยู่องค์เดียวนานประมาณ ๒๐นาที ให้พระภิกษุสงบ ทำสายสิญจน์ ให้ร้อยตะกรุดไปผูกเอวคนไข้ ให้คนเฝ้าไข้เอาหญ้าที่มีน้ำค้างรุ่งสางมาวางบนหน้าอก หันตะกรุดไปทางหน้าอก ให้ระลึกถึงหลวงปู่

รักษาด้วยวิธีนี้ ๓ วันต่อมา คนไข้เริ่มรู้สึกตัว ลืมตา และพูดเก่ง ชดเชยที่ไม่ได้พูดมา ๓ เดือนกับ ๑๐ วัน เมื่อป้อนอาหารก็กลืน และทันทีที่เห็นข้าพเจ้า พ่อพูดว่า " พ่อเห็นหลวงปู่เดินสวนทางกับท่าน ยกมือไหว้ท่าน ท่านก็ไม่ว่ากระไร" ดังนี้ตรงกับที่ทราบว่าหลวงปู่กรุณาไปรักษาระหว่างป่วยหนัก เป็นความมหัศจรรย์ที่ข้าพเจ้าได้พบว่าท่านได้แก้ความทุกข์อย่างมหันต์ลงได้ภายใน ๓ วัน

หลวงปู่ได้กรุณาแจ้งให้ทราบว่า ท่านได้ส่งกุศลที่ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกมารับใช้ท่าน ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรของพ่อ เมื่อเขาอโหสิ จึงหายป่วยโดยฉับพลัน ความรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของหลวงปู่ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า ควรจะตั้งสำนักถาวรถวายท่าน เป็นการสนองพรคุณท่านประการหนึ่ง เมื่อพ่อแม่ของผู้ใดเจ็บไข้จะได้เป็นที่พึ่งผ่อนคลายความทุกข์ จึงได้ปวารณาถวายที่ดิน ๒ แปลงให้ท่านเลือก

ถวายที่ดิน

ที่ดินสองแปลงนี้เป็นทรัพย์สินอันบริสุทธิ์ที่ได้มาจากการรับราชการ (มิใช่ที่มรดก) จึงมีสิทธิถวายได้ทันทีตามศรัทธา ที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ที่ตำบลสำโรง เนื้อที่ ๓๕๙ ตารางวาง อีกแปลงหนึ่งอยู่ที่ตำบลบางแค ซอยจตุรงค์สงคราม เนื้อที่ ๒๒๓ ตารางวา เฉพาะที่ดินแปลงนี้ มีเงินของพ่อมาเกี่ยวข้องห้าพันบาท คือพ่อเห็นว่าข้าพเจ้าจับจ่ายเงินไม่เคยเหลือ จึงวางเงินงวดแรกซื้อที่ดินแปลงนี้ ห้าพันบาท เพื่อบังคับลูกผ่อนส่ง

หลวงปู่ทวด ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ และหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์เลือกที่ดินตำบลบางแค ด้วยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และที่ข้างหน้าไม่ห่างจากที่ดินแปลงนี้เป็น บึงบัวใหญ่ ท่านว่าถูกต้องตามเทวบัญญัติ  ทั้งที่ข้าพเจ้าเองอยากให้ท่านเลือกแปลงที่อยู่ตำบลสำโรง เพราะเนื้อที่มากกว่า จะได้ปลูกสร้างสวยงาม

เมื่อท่านเลือกที่ดินตำบลบางแคแล้ว ก็รู้สึกหนักใจว่าพื้นที่เล็กไป แต่ก็ดีที่พ่อได้มีส่วนทดแทนพระคุณท่านด้วย โดยการออกเงินงวดแรก ท่านสุภาพสตรีผู้หนึ่งกรุณาทดรองจ่ายเงินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ซื้อที่ดินแปลงติดกัน เนื้อที่  ๒๓๒ ตารางวา การออกเงินทดรองครั้งนี้ไม่มีเงื่อนไขอื่นใด นอกจากเมื่อมีเงินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทก็นำไปคืนท่าน

ที่ดินสองแปลงต่อกันจึงเป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ ๕๕ ตารางวา เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความเป็นธรรม จึงได้เชิญท่านสุภาพสตรีผู้นั้นลงชื่อเป็นเจ้าของที่ดินคู่กันในโฉนดแปลงตำบลสำโรง ข้าพเจ้าได้ตั้งใจไว้ว่า เมื่อ "ท่านบรมครูจากสวรรค์" เลือกที่ดินแปลงใดเป็นที่ตั้งสำนักแล้ว อีกแปลงหนึ่งก็จะขายนำเงินมาก่อสร้างสำนัก ความตั้งใจนี้ปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง หากที่ดินตำบลสำโรงเนื้อที่ ๓๕๙ ตารางวาขายได้เมื่อใด จะจ่ายเงินทดรองคืนแก่สุภาพสตรีผู้นั้น ส่วนเงินทั้งหมดที่เหลือ จะถวายให้ใช้จ่ายในการโปรดสัตว์

เดิมท่านยืนยันว่าเมื่อได้ที่ดินแล้วจะให้เอาไม้โลงศพมาปลูกสร้าง แต่เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าควรปลูกสร้างให้โอ่อ่างดงามสมเป็นสถานที่ทำงานของพระโพธิสัตว์ จึงไปชวนเพื่อนผู้เป็นสถาปนิกคือคุณสัมพันธ์ มงคลเกษม มารับทราบความประสงค์ของหลวงปู่แล้วสร้างหุ่นจำลองตำหนัก เพื่อเป็นแนวทางแก่การก่อสร้าง

ปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องเงินค่าก่อสร้าง ถ้ารอรับการบริจาคก็จะเป็นเวลานาน เสียเวลาการเสด็จมาโปรดสัตว์ของวิญญาณพระโพธิสัตว์ จึงได้ตัดสินใจขายบ้าน เมื่อได้โอกาสเหมาะที่น้องชายรับพ่อไปอุปการะ ได้เงินจากการขายบ้านสามแสนบาท จึงซื้อรถโฟล์คเก๋ง ๑ คัน เพื่อเป็นพาหนะมารับใช้งานท่าน ใช้จ่ายในเรื่องเล็กๆน้อยๆส่วนตัว หนึ่งหมื่นบาท ใช้ในการก่อสร้างเริ่มแรกสี่หมื่นห้าพันบาท เหลือเงินประมาณสองแสนห้าหมื่นบาท ได้มอบแก่อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนของ "ท่านบรมครูจากสวรรค์"ในโลกมนุษย์ ไว้ใช้จ่ายในการก่อสร้างดังที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้แต่แรก

 hs28-1

ภาพประวัติศาสตร์พิธีบวงสรวงอ่านโองการยกเสาเอกสร้างสำนักปู่สวรรค์

การก่อสร้าง

การใช้จ่ายในการก่อสร้าง อาจารย์สุชาติมีรายการแสดงจำนวนเงินไว้อย่างครบถ้วนแทนการทำบัญชี แสดงความซื่อสัตย์สุจริต ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของเงิน ไม่รู้สึกข้องใจใดๆเลย รู้สึกว่าร่างที่หลวงปู่เลือกมาประทับทรงทำงานนี้ เป็นบุคคลที่วางใจได้แน่นอน จึงได้นำโฉนดที่ดินที่ตั้งสำนักมามอบไว้เพื่อสมความตั้งใจที่ได้ปวารณาไว้อย่างแท้จริง

ระยะต่อมาเมื่อการก่อสร้างเริ่มไปบ้างแล้ว  มีสานุศิษย์ซึ่งเป็นนักศึกษาวิชาบัญชีมาสมัครช่วยงาน หลวงปู่จึงสั่งให้เริ่มทำบัญชีย้อนหลัง ผู้ทำบัญชียังเป็นนักศึกษา การทำบัญชีระยะนั้นจึงยังไม่สมบูรณ์เนื่องด้วยเวลาไม่พอ แต่ก็พอเป็นหลักฐานแสดงความสุจริตของผู้เกี่ยวข้องได้พอสมควร

 hs28-2

ภาพสำนักปู่สวรรค์เมื่อยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

การก่อสร้างเริ่มด้วยการถมที่ดินซึ่งเป็นท้องนา ถมด้วยดินและทรายหลายชั้น เพื่อให้แข็งแรง เฉพาะการถมใช้จ่ายไปประมาณเจ็ดหมื่นบาท วิธีถมทำตามคำสั่งของเทพพรหมผู้มีความรู้ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งต่างกับความรู้และความคิดของมนุษย์

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือท่านสั่งให้ถมสูงกว่าระดับถนน(ในขณะนั้น) ๒๐ เซ็นติเมตร ในกาลต่อมาเมื่ออำเภอลาดยางแอสฟัลต์ถนนนั้นก็สูงขึ้นมาพอดีระดับที่ดินของสำนักที่ถมเตรียมไว้ ถมที่แล้ว ขุดเจาะน้ำบาดาล ใช้เงินหมื่นกว่าบาท วางผังลงเสาเข็ม ๗๕ ต้นด้วยปั้นจั่น คุณสัมพันธ์ มงคลเกษม คุมการลงเสาเข็มเอง

เป็นที่น่าอัศจรรย์ เทวดารายงานหลวงปู่ว่า เสาปักลงผิดที่แล้ว เมื่อคุณสัมพันธ์ตรวจสอบดู พบว่าเป็นความจริง เสาลงผิดที่ใต้ตำหนักถึง ๕๕ ต้น หากเทวดามิได้รายงานหลวงปู่แล้ว น่ากลัวว่าการก่อสร้างจะเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะคลาดเคลื่อนหมดทุกจุด เรื่องนี้ทำเอาคุณสัมพันธ์เริ่มรู้สึกเลื่อมใสสำนักปู่สวรรค์ว่าแปลกดี การช่วยออกแบบให้ เดิมทำด้วยความเป็นเพื่อน แต่ระยะนั้นเริ่มเปลี่ยนเป็นทำด้วยความศรัทธาว่า เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง จึงมีความนับถือสำนักปู่สวรรค์ตั้งแต่นั้นมา

การก่อสร้างฐานรากตำหนัก ใช้วัสดุที่แข็งแรงกว่าที่ก่อสร้างกันตามปกติ ใช้เหล็กเส้นขนาด ๘ หุน ซึ่งปกติใช้สร้างตึก ๑๐ ชั้น ใช้ปูนซีเมนต์ตราช้าง ซึ่งตามปกติใช้สร้างถนน ทั้งนี้เพื่อความแข็งแรงทนทาน ให้สนองบัญชาหลวงปู่ว่าอีก ๓๐๐ ปีจะมีพระโพธิสัตว์มาสำเร็จที่สำนักปู่สวรรค์นี้ จึงสร้างให้แข้งแรงเพื่อรอรับการสำเร็จของพระโพธิสัตว์องค์นั้น

 เมื่อเสร็จเรื่องเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ ได้บรรจุทรายไว้ในบริเวณฐานรากเบื้องล่างเต็มเรียบร้อย เพื่อความแข็งในการรองรับน้ำหนัก เมื่อสร้างได้เพียงเท่านี้ เงินกำลังจะหมด หลวงปู่จึงสั่งหยุดสร้างตำหนักนั้น ให้เริ่มสร้างศาลาไทย(ตำหนักเล็ก)ขึ้นเป็นที่ประทับโปรดสัตว์ชั่วคราว ศาลาทรงไทยที่ประทับชั่วคราวนี้เป็นศาลาชั้นเดียว กว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร เลียนแบบศาลาที่โรงเรียนพาณิชยการพระนคร

 เมื่อลงเสาเข็ม ปักเสาปูน ขึ้นเสา ขึ้นคาน ขึ้นหลังคาเสร็จเงินก็หมด การก่อสร้างต่างๆหลังจากนั้นเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากสานุศิษย์และสาธุชน มีสานุศิษย์บริจาคไม้สำหรับสร้างตำหนักชั้นบนตลอดหลัง เริ่มใช้ศาลาไทยเป็นที่ประทับโปรดสัตว์ชั่วคราว ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๓ ระหว่างนี้ได้จัดการทอดผ้าป่าเพื่อได้เงินสร้างตำหนัก ได้เงินประมาณสี่หมื่นบาท ใช้เงินจำนวนนี้เป็นค่ากระเบื้องมุงหลังคาตำหนักได้เพียงครึ่งหลัง แต่ถ้าปล่อยไว้เพียงนั้นพื้นจะเสีย ระแนงจะคด จำเป็นต้องมุงตลอดหลัง  จึงต้องกู้เงินเป็นจำนวนสี่หมื่นบาท ค่าดอกเบี้ยเดือนละ ๖๐๐ บาท

 hs28-3

ภาพคณะกรรมการยุคก่อตั้งและสาธุชนในพิธีทอดผ้าป่าเพื่อสร้างสำนักปู่สวรรค์ให้แล้วเสร็จ

เมื่อการก่อสร้างตำหนักชั้นบนเสร็จ ทอดผ้าป่าครั้งที่สอง ได้เงินประมาณสามแสนเจ็ดหมื่นบาท จึงได้ใช้หนี้ และประกอบกับการบริจาคของสานุศิษย์และสาธุชน ตำหนักและอาคารในสำนักปู่สวรรค์จึงได้ปลูกสร้างขึ้นดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เงินที่ท่านใช้คืนสามหมื่นบาท ได้นำไปซื้อรถวอกซ์ฮอลถวายท่านใช้งาน

......................................................................................................................................

จบบันทึก ของอาจารย์ลัดดา ประเสริฐกุล